Menu Close

Blog



มันสำปะหลังพันธุ์พิรุณ เกิดจากการผสมแบบสลับ (cross-reciprocal) โดยเลือกใช้พันธุ์ห้วยบง 60 เป็นต้นแม่ ซึ่งมีลักษณะปริมาณแป้งในหัวสดสูง ผลผลิตสูง ปริมาณไซยาไนด์สูง และอัตราการเจริญเติบโตในช่วงแรกต่ำ ส่วนพันธุ์ห้านาที เป็นต้นพ่อ ซึ่งมีลักษณะปริมาณแป้งในหัวสดต่ำ ผลผลิตต่ำ ปริมาณไซยาไนด์ต่ำ และอัตราการเจริญเติบโตในช่วงแรกสูง

ที่มาของชื่อสายพันธุ์ว่า “พิรุณ” หมายถึง “พืชของเทวดา” ที่มีชีวิตขึ้นอยู่กับ “น้ำฝน” หรือ “พระพิรุณ” ซึ่งนับเป็นจุดเด่นของมันสำปะหลังสายพันธุ์นี้ เมื่อปลูกในสภาพไร่แบบอาศัยน้ำฝนอย่างเดียวก็สามารถเติบโตได้ดี มีทรงต้นสวย แตกกิ่งที่ระดับเหนือศีรษะ ก้านใบสีแดง มีก้านหัวสั้น เนื้อหัวสีขาว มีปริมาณไซยาไนด์ในระดับต่ำ นับเป็นข้อดีที่ได้จากคู่ผสมพันธุ์ห้วยบง 60 และพันธุ์ห้านาที ซึ่งรองศาสตราจารย์ ดร.กนกพร ไตรวิทยากร หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร (ดร.โอภาษ บุญเส็ง) และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เริ่มศึกษาและวิจัยการปรับปรุงสายพันธุ์มันสำปะหลังมาอย่างยาวนานตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2549

ลูกผสมที่สร้างขึ้น ส่วนหนึ่งนำไปใช้ในการศึกษาเครื่องหมายโมเลกุล (DNA-marker) ซึ่งจะใช้เป็นเครื่องมือในการคัดเลือกพันธุ์มันสำปะหลัง (Marker assisted selection; MAS) ในอนาคต อีกส่วนหนึ่งนำไปคัดเลือกและประเมินพันธุ์ตามแบบวิธีมาตรฐาน (conventional breeding) และได้ประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนามันสำปะหลังทั้งในสายพันธุ์ที่ปลูกเพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรม (พิรุณ 1) ที่ให้ผลผลิตสูง แป้งสูง และทนต่อโรคพืช และสายพันธุ์ที่ปลูกเพื่อการบริโภค (พิรุณ 2 และพิรุณ 4) ซึ่งมีจุดเด่นอีกอย่างหนึ่ง คือ ปราศจากสารกลูเต็น (gluten) สามารถนำไปพัฒนาเป็นแป้งฟลาวที่ใช้ทดแทนแป้งสาลีในการทำผลิตภัณฑ์เบเกอรี ต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพได้อีกด้วย

ปัจจุบันผลผลิตจากมันสำปะหลังสายพันธุ์พิรุณ 4 สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรในการส่งผลผลิตไปสู่โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ หรือรวมกลุ่มวิสสาาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารต่าง ๆ เพื่อจำหน่ายได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นขนมไทย เช่น มันเชื่อม ตะโก แกงบวด ขนมหน้านวล บ้าบิ่น ขนมมัน รวมถึงผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ เช่น บราวนี่ คัพเค้ก คุ้กกี้ และแปรรูปเป็นมันสำปะหลังทอด

ในอนาคตคณะผู้วิจัยฯ ยังมองถึงโอกาสในการพัฒนาสายพันธุ์มันสำปะหลังต่อไป ทั้งการเพิ่มผลผลิต พัฒนาปรับปรุงรสชาติให้ดีขึ้น รวมทั้งเพิ่มคุณภาพทางอาหารให้สูงขึ้นในมันสำปะหลังเพื่อบริโภค และไม่ลืมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานวิจัยให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง