Web Analytics Made Easy - Statcounter
Menu Close

งานประชุมวิชาการ “Omics era: Current and future perspectives”



งานประชุมวิชาการ “Omics era: Current and future perspectives” วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม 2566

 ศาสตราจารย์ ดร. นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานเปิดงานและกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานประชุมวิชาการ “Omics era: Current and future perspectives” เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ครบรอบปีที่ 14 โดยสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุลได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ จากศูนย์จีโนมจุลินทรีย์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ (CENMIG) ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้แสดงปาฐกถา ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สิรินทร์ พิบูลนิยม ครั้งที่ 19 หัวข้อ “Advances in microbial genomics: past, present and future” ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์เกียรติคุณสิรินทร์ พิบูลนิยม สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

 งานประชุมวิชาการในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเปิดเวทีสำหรับผู้เชี่ยวชาญการวิจัยด้านโอมิกส์มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนักวิจัย รวมทั้งพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับโอมิกส์และการประยุกต์ใช้ ซึ่งครอบคลุมสหวิทยาการต่าง ๆ เช่น จีโนมิกส์ โปรติโอมิกส์ เมแทบอโลมิกส์ ทรานสคริปโตมิกส์ และไมโครไบโอต้า ภายในงานมีการบรรยายพิเศษจากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านโอมิกส์ อาทิ การบรรยาย หัวข้อ “Metagenomic analysis of bacterial, fungal and viral microbiota” โดย ศาสตราจารย์ ดร.สัญชัย พยุงภร ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, การบรรยาย หัวข้อ “Mechanism of pre-killing (MOK): Antimicrobial discovery through bacteriophage genomics” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรพนธ์ ชัยกีรติศักดิ์ ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, การบรรยาย หัวข้อ “Mass spectrometry-based peptidomics and proteomics” โดย ดร.สิทธิรักษ์ รอยตระกูล ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และการบรรยาย หัวข้อ “In silico docking and molecular dynamics for small-molecule drug discovery” โดย อาจารย์ ดร.จิราพร ปานมณี ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล

 นอกจากนี้ ยังมีพิธีมอบรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล ประจำปี 2566 โดยศิษย์เก่าคนเก่งที่ได้รับรางวัลในปีนี้ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.เอกสิทธิ์ กุมารสิทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศิษย์เก่าหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประสาทวิทยาศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพรรษา ยอดเมือง อาจารย์ประจำฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศิษย์เก่าหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสาขาวิชาพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุลและพันธุวิศวกรรมศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ)

 ปัจจุบันการวิจัยโอมิกส์มีการประยุกต์ใช้อย่างหลากหลายในชีววิทยาสมัยใหม่ รวมถึงการแพทย์ที่แม่นยำ การค้นพบยา การวินิจฉัยและการรักษาโรค นอกจากนี้ การวิจัยโอมิกส์ยังมีศักยภาพในการให้ความกระจ่างเกี่ยวกับกระบวนการทางชีววิทยาที่สำคัญ เช่น การแก่ชรา วิวัฒนาการ และการตอบสนองของสิ่งมีชีวิตต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม ดังนั้น งานประชุมวิชาการในครั้งนี้จึงนับเป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนผลงานวิจัยเพื่อพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับชีววิทยาโดยรวม ซึ่งจะนำไปสู่การประยุกต์ใช้ผลงานวิจัยให้เกิดประโยชน์ด้านสุขภาวะที่ดีต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป



NEWS