Menu Close

Research Highlights


6 Jun 2021

การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (electroencephalography; EEG) เป็นการแสดงการทำงานของเซลล์ประสาทในเปลือกสมองใหญ่ (cerebral cortex) ของมนุษย์ ซึ่งเป็นการตรวจที่ปลอดภัยและไม่รุกล้ำ การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองของสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุลจึงเป็นเครื่องมือวิจัยที่สามารถแสดงให้เห็นการทำงานของสมองได้ และถูกนำมาใช้ในการวิจัยด้านสมองของมนุษย์

สัญญาณคลื่นไฟฟ้าสมองที่บันทึกได้จะถูกจำแนกตามความถี่ออกเป็น 4 ช่วงคลื่น ประกอบไปด้วย

(1) คลื่นเดลต้า (delta wave) มีความถี่น้อยกว่า 4 เฮิรตซ์

(2) คลื่นเธต้า (theta wave) มีความถี่ระหว่าง 4-8 เฮิรตซ์

(3) คลื่นอัลฟ่า (alpha wave) มีความถี่ระหว่าง 8-13 เฮิรตซ์ และ

(4) คลื่นเบต้า (beta wave) มีความถี่มากกว่า 13 เฮิรตซ์

โดยคลื่นอัลฟ่าและคลื่นเบต้าจะเป็นคลื่นไฟฟ้าสมองหลักในช่วงตื่น ส่วนคลื่นเธต้าจะพบในช่วงที่ง่วงนอนและการนอนหลับระยะต้น ในขณะที่คลื่นเดลต้า จะพบในช่วงของการนอนหลับลึก (deep sleep) นั่นคือในหนึ่งวันของมนุษย์ คลื่นไฟฟ้าสมองจะมีการเปลี่ยนแปลงจากความถี่สูง (คลื่นอัลฟ่าและคลื่นเบต้า) ในช่วงตื่น ไปสู่คลื่นความถี่ต่ำ (คลื่นเธต้าและคลื่นเดลต้า) ในช่วงของการนอนหลับ

นอกจากนี้ คลื่นไฟฟ้าสมองยังมีการเปลี่ยนแปลงตามช่วงวัยของมนุษย์อีกด้วย กล่าวคือ ในช่วงเด็กเล็ก คลื่นไฟฟ้าสมองในช่วงตื่นจะเป็นคลื่นเธต้า แทนที่จะเป็นคลื่นอัลฟ่าที่มีความถี่สูงกว่าแบบที่พบในผู้ใหญ่ แต่เมื่อเด็กเติบโตขึ้น ความถี่ของคลื่นไฟฟ้าสมองในช่วงตื่นก็จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น จนอยู่ในช่วงความถี่อัลฟ่านั่นเอง

ทางคณะผู้วิจัยอาศัยคุณสมบัติการเปลี่ยนแปลงคลื่นไฟฟ้าสมองตามช่วงวัยนี้ มาใช้ในการศึกษาการพัฒนาของสมองในเด็กที่ได้รับการสอนแบบวิถีพุทธซึ่งมีการบูรณาการเรื่องการฝึกสติเข้าไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เปรียบเทียบกับเด็กวัยเดียวกันที่เรียนในหลักสูตรปกติของกระทรวงศึกษาธิการ (กลุ่มควบคุม) พบว่านักเรียนที่เรียนในหลักสูตรที่มีการฝึกสติร่วมด้วยจะมีการลดลงของคลื่นเธต้าที่บันทึกในช่วงพัก (รูปซ้าย: กลุ่ม Mind-Edu เป็นสีเขียว-เหลือง) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (รูปขวา: กลุ่ม control เป็นสีแดง-ส้ม)

การลดลงของคลื่นเธต้าที่บันทึกในช่วงตื่นเป็นการบ่งว่าสมองของเด็กที่เรียนในหลักสูตรที่มีการฝึกสติร่วมด้วยจะมีการพัฒนาของสมองค่อนไปทางแบบผู้ใหญ่ คือ มีคลื่นเธต้าในช่วงตื่นลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับวัยเด็ก ในขณะที่สมองของเด็กในกลุ่มควบคุมยังมีคลื่นเธต้าที่บันทึกในช่วงตื่นค่อนข้างมากอยู่ อันเป็นลักษณะตามปกติของเด็กวัยนี้

ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าการฝึกสติในเด็กวัยเรียนส่งผลให้สมองมีการพัฒนาที่ดีขึ้น นอกจากนี้การประเมินผลการตรวจด้วยแบบทดสอบทางจิตวิทยาก็ยืนยันว่า นักเรียนชั้น ป.6 ในหลักสูตรที่มีการฝึกสติร่วมด้วยจะมีผลการประเมินที่ดีกว่าอย่างชัดเจน

รูปที่ 1 ภาพจำลอง 2 มิติของสมอง (topographic brain mapping) ในช่วงคลื่นเธต้า ระหว่างกลุ่มนักเรียนในหลักสูตรการศึกษาวิถีพุทธ (Mind-Edu group) และกลุ่มควบคุม (Control group)

เอกสารอ้างอิง

Siripornpanich, V., Sampoon, K., Chaithirayanon, S., Kotchabhakdi, N., Chutabhakdikul, N. Enhancing Brain Maturation Through a Mindfulness-Based Education in Elementary School Children: a Quantitative EEG Study. Mindfulness. 2018; 9: 1877–84.

 

รายละเอียดของบทความสามารถอ่านได้ที่ https://link.springer.com/article/10.1007/s12671-018-0930-3