ม.มหิดล ศึกษากลไกโรคนอนไม่หลับ-เหตุสมองเสื่อม ผลักดันเปิด ‘Sleep Lab’ มาตรฐานโลก
สมรรถภาพของมนุษย์ขึ้นอยู่กับ “การนอนหลับ” ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 ของชีวิต แม้ “การงีบหลับ” เพียง 15 นาทีระหว่างวัน ก็สามารถ “ชาร์จแบต” ให้ร่างกายเกิดความรู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นได้
รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์ ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ใน 1 รอบของการนอนหลับของมนุษย์ใน 1 คืน โดยทั่วไปอยู่ที่ประมาณรอบละ 90 นาที มีตั้งแต่การ “หลับตื้น” สลับกับ “หลับลึก” ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สมองหลั่งฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตในเด็ก การสร้างความจำระยะยาว ตลอดจนกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเป็นต่าง ๆ ของร่างกาย
ในรายที่ตื่นลืมตาพร้อมกับความรู้สึกง่วง ไม่กระปรี้กระเปร่า (Sleep Inertia) มักเกิดจากการถูกปลุกให้ตื่นกะทันหันจากห้วงนิทรารมณ์ในระยะนอนหลับลึก ซึ่งเป็นช่วงที่คลื่นสมองความถี่ช้าปรากฏ
การนอนหลับที่ไม่ดีส่งผลกระทบได้ต่อทั้งพัฒนาการในเด็กและก่อโรค NCDs ในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “ผู้ป่วยนอนกรนที่มีโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น” (OSA – Obstructive Sleep Apnea) ร่วมด้วย เพราะในขณะนอนหลับโดยธรรมชาติจะมีความดันโลหิตลดลง แต่จะได้รับการกระตุ้นเป็นระยะ ๆ เมื่อเกิดอาการหยุดหายใจขณะหลับ จะทำให้ความดันโลหิตไม่ลดลงตอนกลางคืน ส่งผลเกิดความเสี่ยงต่อการเป็น “ความดันโลหิตสูง” และเสี่ยงต่อภาวะ “หัวใจเต้นผิดจังหวะ” ทำให้เกิดแนวโน้มของ “โรคหลอดเลือดสมอง” ต่อไปได้ในผู้ป่วยโรค OSA
รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์ กล่าวต่อไปว่า แม้การนอนกลางวันอาจจะเกิดขึ้นเป็นหลักในทารกและเด็กเล็ก แต่หากผู้ใหญ่มีความง่วงนอน ก็สามารถงีบหลับได้ โดยควรเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 15 นาที เพื่อให้สดชื่น และป้องกันไม่ให้เกิด “Sleep Inertia” แต่ถ้าง่วงนอนตอนกลางวันบ่อยๆ ต้องระวังว่าคุณภาพการนอนตอนกลางคืนอาจจะไม่ดี เพราะการนอนตอนกลางคืนที่มีคุณภาพ จำเป็นต่อการฟื้นฟูซ่อมแซมสมองและร่างกายให้พร้อมทำงานต่อไปในวัยผู้ใหญ่ ตลอดจนช่วยป้องกัน “ภาวะสมองเสื่อม” ได้อีกด้วย
มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล พร้อมทำหน้าที่ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานฯ ทุ่มเทองค์ความรู้และประสบการณ์ความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมาอย่างยาวนานจัดสร้าง “Sleep and Chronobiology Lab” ดำเนินการทั้งการตรวจวิจัยด้านการนอนหลับและศึกษาเกี่ยวกับกลไกนาฬิกาชีวภาพของมนุษย์ โดยแพทย์ อาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ และนักตรวจการนอนหลับ ตามมาตรฐานโลก โดยหวังให้เป็นแหล่งค้นคว้าและวิจัยกระบวนการเกิดโรคและกลไกการรักษาโรคการนอนหลับชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาวะนอนไม่หลับ โรคหยุดหายใจในขณะหลับจากการอุดกั้น รวมไปถึงผลของการนอนหลับที่ไม่ดีต่อปัญหาสุขภาพ เพื่อให้คนไทยได้มีชีวิตที่ดีขึ้นจากการนอนหลับที่มีคุณภาพ ในอีกไม่เกิน 1 ปีข้างหน้า
อดใจรอพร้อมติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210